การบริหารเงินแบบ “เบิร์ด สแกนหุ้น”

ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการมาก โดยเฉพาะเรื่อง การเงิน การลงทุน ด้วยแล้ว

ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องวางแผนให้ดี และวางแผนให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราด้วย

เราควรหาวิธีการบริหารเงินที่เหมาะสมกับตัวเราเองให้เจอ และในแต่ละช่วงชีวิตที่เรามีวิธีการหารายได้ที่แตกต่างจากเดิม เราก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ให้เหมาะสมตามไปด้วย

อย่างผมในปัจจุบันนี้ ก็มีวิธีการบริหารเงินที่เป็นมุมมองวิธีคิดส่วนตัวที่ผมออกแบบมาให้เหมาะกับไลฟสไตล์ และ ความถนัดในการหารายได้ของผม ดังนี้

ผมขอยกตัวอย่าง เพื่อน ๆ จะได้มองภาพออกได้ง่าย ๆ คือ

ผมรู้ตัวว่า ผมเป็นคนที่ถนัดในการลงทุนในตลาดทุน และสินค้าที่สร้างผลตอบแทนให้ผมได้ง่ายและดีที่สุด เมื่อคำนวนจากเงินต้นแล้ว คือ ฟิวเจอร์

ผมจึงเน้นเทรดฟิวเจอร์เป็นหลัก โดยในปี 2566 นี้ ผมวางเงินทุนในการเทรดฟิวเจอร์เอาไว้เริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท

เมื่อได้กำไรผมจะล็อคการเติบโตของเงินในพอร์ทมีกำไรแล้วจะสะสมเอาไว้ให้ในพอร์ทมีเงินลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท

ส่วนที่เกินมาผมจะถอนเงินออกมาไว้ก่อน เป็นการบริหารเงินนั้น ๆ 

ในสเตปต่อไป ผมเรียกว่า เป็นการถอนทุนออกเรื่อย ๆ จนสุดท้าย ต้นทุนของผมในการเล่นฟิวเจอร์จะเป็น 0 เมื่อถอนทุนออกหมดแล้ว จะคงเหลือแต่กำไรเอาไปเล่นเท่านั้น

นั่นเป็นสาเหตุให้ผมกล้าเทรดฟิวเจอร์เต็มวงเงินประกันที่มี เพราะผมเอากำไรมาเล่นนั่นเอง ทำให้ความกดดันน้อยมาก ทำให้ผมเทรดได้คมมากขึ้น และถ้าเทรดฟิวเจอร์ผิดทาง ผมจะ Stop Loss ทันที! ไม่มีการถัว

ส่วนเงินที่ถอนออกมาผมก็จะเอามาจัดสรรบริหารเงินอีกต่อ ๆ ไป 

สมมุติว่า ผมเทรดฟิวเจอร์ ได้กำไร 5 แสนบาท จากเงินต้น 1-2 ล้านบาท

ผมจะแบ่งกำไรนั้นออกมาเป็น 4 บัญชี ดังนี้

  1. บัญชีรางวัล : ผมจะแบ่งกำไรออกมา 10% ใส่ในบัญชีนี้ ให้เป็นเงินเอาไว้ใช้สำหรับใช้จ่ายให้รางวัลกับตัวผมเอง ไม่ว่าจะเป็น เอาไปซื้อของกินที่อยากกินเป็นพิเศษ ใช้ช็อปปิ้งซื้อของให้ตนเองหรือให้ใครที่อยากให้ หรือจะเอาไปทำบุญตามอัธยาศัย หรือจะใช้จ่ายไร้สาระอะไรก็ได้ตามใจ อย่างสัปดาห์นี้จากกำไร 5 แสน ผมจะถอนเงินมาไว้ในบัญชีนี้ 5 หมื่น เป็นต้น
  1. บัญชีกระแสเงินสดเอาไว้ใช้จ่ายทั่วไป และค่าใช้จ่าย fix cost : ผมจะแบ่งกำไรออกมา 30% ใส่ในบัญชีนี้ เอาไว้เป็นใช้จ่ายสำหรับการดำรงค์ชีวิต เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ท ค่ามือถือ ค่าประกันชีวิต ค่าประกันบ้าน ค่าประกันรถ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเป็นต้น อย่างสัปดาห์นี้จากกำไร 5 แสน ผมจะถอนเงินมาไว้ในบัญชีนี้ 1.5 แสน
  1. บัญชีลงทุน : ผมจะแบ่งกำไรออกมา 30% ใส่ในบัญชีนี้เอาไว้ใช้สำหรับการลงทุนนำเงินไปต่อเงิน ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีปันผล หรือลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ นอกเหนือจากตลาดทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อย่างสัปดาห์จากกำไร 5 แสน ผมจะถอนเงินมาไว้ในบัญชีนี้ 1.5 แสน
  1. บัญชีออมทรัพย์ หรือฉุกเฉิน : ผมจะแบ่งกำไรออกมา 30% ใส่ในบัญชีนี้เอาไว้สำหรับออมทรัพย์ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเอาไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงินอย่างไม่คาดคิด เพิ่มเติมเงินส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เกิดรายจ่ายที่ไม่คาดคิดเกินความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้ หรือ มีจังหวะที่น่าลงทุนแบบฉุกเฉินที่จำเป็นต้องแข่งกับเวลา เช่น เวลาตลาดหุ้นเทแรงแล้วเป็นจังหวะช้อนซื้อ หรือมีอสังหาริมทรัพย์ร้อนมาให้ช่วยซื้อในราคาถูก หรืออื่น ๆ เป็นต้น อย่างสัปดาห์นี้จากกำไร 5 แสน ผมจะถอนเงินมาไว้ในบัญชีนี้ 1.5 แสน

ทั้งหมดนี้เป็นการแบ่งเงิน 4 บัญชีแบบง่าย ๆ ในสไตล์ของผม

ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่ผมทำเสมอ คือ ผมจะไม่ปล่อยให้เงินให้พอร์ทหุ้นเยอะเกินไป เพราะผมเจ็บและจำจากบทเรียนในอดีต

ตอนผมเข้าตลาดหุ้นมาใหม่ ๆ ความรู้ผมยังน้อย ยังไม่มีระบบเทรด Bird Theory อย่างทุกวันนี้

ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดอยากมีหุ้นพอร์ทใหญ่ มีมูลค่าพอร์ทหุ้นเยอะ ๆ หลักสิบล้าน ร้อยล้าน มีกำไรก็สะสมในพอร์ททบไปเรื่อย ๆ จากเงินต้น 3 แสน เป็นหลักสิบล้าน

แล้ววันหนึ่งตลาดหุ้นมันก็เกิดแพนิคเทลงมา!! เซอร์กิตเบรค หุ้นหลายตัวติดฟอล์

ส่งผลให้พอร์ทผมขาดทุนหนัก ติดลบหนักมาก คัทลอสเจ็บหนักมาก

ตอนนั้นจากพอร์ทหลักสิบล้านเสียหายจนเกินรับได้ และผมผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมาถึง 2 รอบ

จนผมมองว่าตลาดหุ้นเป็นเหมือนตลาดเลี้ยงหมู ให้เราได้กำไรเรื่อย ๆ ทีละนิด ๆ จนพอร์ทใหญ่ แล้วมันก็เทแรงจนพอร์ทแตก เชือดเราเป็นหมู

ตั้งแต่นั้นมาผมจึงสร้างระบบเทรด Bird Theory และ หาวิธีการเทรดที่เหมาะสมกับผม

ทุกวันนี้ผมจึงไม่เอาเงินสะสมไว้ในพอร์ทหุ้นเรื่อย ๆ พอพอร์ทโตระดับหนึ่งผมจึงจะถอนเงินออกมาเสมอ

ตอนนี้ผมจึงไม่ให้พอร์ทหุ้นถึงหลักร้อยล้าน เพราะผมจะถอนเงินออกมาเสมอ เพื่อไม่ให้พอร์ทหุ้นโตเกินไปและผมบริหารการซื้อขายเข้าออกได้ง่าย

ผมจึงใช้วิธีใช้เงินน้อย สร้างผลตอบแทนมาก ด้วยฟิวเจอร์

ผมเอาเงินไว้ในฟิวเจอร์ 1-2 ล้าน แล้วเอากำไรที่ได้จากการเล่น แบ่งกำไรไปซื้อสะสมหุ้นที่ผมอยากถือเรื่อย ๆ

ดังนั้น หุ้นที่ผมซื้อสะสมเรื่อย ๆ จึงไม่ได้ใช้เงินทุนเงินต้นเลย แต่ผมใช้กำไรไปซื้อสะสม ผมตีความว่า หุ้นเหล่านั้นที่ผมซื้อสะสมลงทุน ไม่มีต้นทุนสักบาท มันคือการแบ่งกำไรบางส่วนมาซื้อลืม

เมื่อทำแบบนี้ หุ้นที่ผมซื้อถือลืมจะขึ้นหรือลง ผมก็ไม่สนใจ เพราะมันก็แค่กำไรที่ไม่ได้สนใจ กำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่นั้นเอง

และผมก็สามารถเล่นฟิวเจอร์ให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วนำไปซื้อหุ้นตัวนั้นได้เรื่อย ๆ ซื้อไปเรื่อย ๆ จนกว่าหุ้นตัวนั้นจะวิ่งไปยังราคาที่ผมพอใจ หรือถ้าไม่วิ่งผมก็ได้ปันผล

ถ้าไม่วิ่งขึ้นไป จะลงไปเท่าไหร่ ผมก็เอากำไรไปซื้อเพิ่มได้เรื่อย ๆ เหมือนเอาเงินส่วนกำไรไปโยนทิ้งไว้นั่นเอง

ส่วนหุ้นที่ผมลงทุนจริง ๆ ผมจะโฟกัสแบบวินัยเทรดตามระบบเทรด Bird Theory อย่างเคร่งครัดครับ

ผมแยกเงิน และการลงทุน ในแต่ละแบบไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น

หวังว่า โพสต์นี้จะมีประโยชน์ในการวางแผนการลงทุน การเงินให้เพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อย ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

#อย่าเชื่อผมจงเชื่อกราฟ

#เงินอยู่ในหัวจะกลัวอะไร

#เบิร์ดสแกนหุ้น

————————————————————————————————————